Archive | December 2009

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) คืออะไร ?

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) คือ การที่กลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน  มารวมตัวกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยความสมัครใจ เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจหรือพัฒนาแนวปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ

 องค์ประกอบหลักที่สำคัญๆ ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) มีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ประกอบ ได้แก่

  1. คน (People) – ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นแหล่งศูนย์รวมของความรู้ที่สมควรนำออกมาแบ่งปันเป็นอย่างยิ่ง โดยก็ควรจะเป็นคนที่มีความรู้จากการปฏิบัติจริง และอยากจะมาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้นั้น ด้วยความเต็มใจ
  2. สถานที่ และบรรยากาศ  (Place) – เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีชีวิตชีวาและน่าสนใจ เพราะสถานที่และบรรยากาศที่ดี (สบายๆผ่อนคลาย) มีความเหมาะสมกับแต่ละกลุ่มคน จะทำให้คนเหล่านั้นมาเจอกันพูดคุย ปรึกษา วิเคราะห์ปัญหา  แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างสบายใจ
  3.  สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ (Infrastructure) – เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ช่วยให้การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดได้ง่ายและสะดวกขึ้น เช่น กระดานสำหรับเขียน คอมพิวเตอร์สำหรับการสรุปและจัดเก็บความรู้รวมถึงการแบ่งปัน (Share) หรือการส่งต่อข้อมูล

 

 

 

และเมื่อมีองค์ประกอบทั้ง 3 ประการพร้อมแล้ว การที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นประสบความสำเร็จ และใช้ประโยชน์ได้จริง ก็ควรคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญๆของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล (Effective Knowledge Sharing) ดังนี้

ปัจจัยหลักของการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 6 ประการ ได้แก่

1.      กำหนดเป้าหมายการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ชัดเจนและสัมพันธ์กับเป้าหมายทางธุรกิจ

2.      สร้างผู้นำที่เป็นแบบอย่าง

3.      สร้างเครือข่ายของผู้มีความรู้จากการปฏิบัติ (Human Networks)    

4.      กำหนดวิธีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กร

5.      แบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นำไปใช้ในงานประจำวันได้ 

6.      สร้างแรงจูงใจที่สนับสนุนการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

 

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ที่มีประสิทธิผลนั้น จะต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก  คือ คน, สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก  รวมทั้งดำเนินกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยพิจารณา 6 ปัจจัยหลัก ข้างต้น ด้วยการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง  🙂

BugDay 2009 อีกหนึ่งเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แท้จริง

เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน BugDay 2009 ที่คณะสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม 

 

ต้องขอบอกว่างานนี้เป็นงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แท้จริง เพราะเป็นงานที่ถูกจัดขึ้นด้วยใจ
ด้วยความต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของชาว IT ในเรื่องของ Software Testing 

โดยเป็นความอยากจัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคุณ Prathan D. (Twitter: @zyracuze) 
 

จากความต้องการส่วนตัว (Passion) จนกระทั่งทำให้เกิดเป็นงานใหญ่งานหนึ่งขึ้นมาได้ ต้องขอขอบคุณและขอคารวะด้วยใจเป็นอย่างยิ่ง

ที่กล่าวว่างานนี้เป็นงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แท้จริง เพราะในวงการของการจัดการความรู้ KM (Knowledge Management ) 

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำ KM ก็คือ…

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ที่เกิดจากความอยาก (Passion) ไม่ใช่เกิดจากการบังคับ

ดังนิยามของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นิยมใช้ในการทำ KM ที่เรียกว่า…

 CoP (Community of Practice) หรือชุมชนนักปฏิบัติ

ดังนี้…

กลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน

มารวมตัวกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยความสมัครใจ

เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจหรือพัฒนาแนวปฏิบัติในเรื่องนั้น

ซึ่งสามารถสรุป “หัวใจสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” ได้ดังภาพ

 

 

…และนี่คืออีกหนึ่งเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แท้จริง ที่เป็นต้นแบบสู่การปฏิบัติเพื่อการ “พัฒนาคน” ให้นำไปสู่การ “พัฒนาองค์กร” ที่แท้จริง