Archives

ไม่รัก ไม่บอก ….หนึ่งในหัวใจสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ !!

1425644703

เมื่อพูดถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) คนในวงการ KM หลายๆคน คงต้องนึกถึง Ikujiro Nonaka เป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นกูรูด้าน KM คนหนึ่ง ที่ได้นำเอาหลักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์กร ด้วยเทคนิคการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้แบบ Tacit Knowledge to Tacit Knowledge เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะของคนในองค์กรให้ขยายวงกว้างขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายคือ พัฒนาคนให้เก่งขึ้น เพื่อสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) จากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มคนด้วย ซึ่ง Ikujiro Nonaka ได้ให้หลักการที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ไว้ดังนี้คือ
1. ต้องมีความเอาใจใส่กัน (Care)
2. ต้องมีความรัก ความเอื้ออาทรต่อกัน (Love)
3. ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Trust)
4. ต้องรู้สึกปลอดภัย (Safe)

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) จะเกิดได้ดีมาก หากกลุ่มคนที่มาแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “มีความรักและเอื้ออาทรต่อกัน (Love)” ….เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า …“ไม่รัก ไม่บอก”….. ถ้ามีข้อนี้แล้ว ข้ออื่นๆ ก็ไม่น่าหนักใจมากนัก หากไม่เชื่อลองเปรียบเทียบกับตัวท่านเองก็ได้ ว่าท่านมักจะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ที่ท่านสนใจกับกลุ่มเพื่อนสนิทหรือกลุ่มคนที่ท่านรักและไว้ใจก่อน ถ้าบังเอิญในกลุ่มนั้นมีคนที่ท่านไม่ชอบหรือไม่ถูกชะตาอยู่ด้วย ท่านก็คงไม่อยากบอกอยากเล่าข้อมูลดีๆ ให้ฟัง
รู้อย่างนี้แล้ว หากท่านต้องจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ในองค์กรของท่าน ท่านควรเลือกทำจากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความรักความเอื้ออาทรต่อกัน ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน มาทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร ให้ได้ผลงานที่เป็นประโยชน์กับองค์กรจริงๆ แล้วค่อยๆขยายผลออกไปในวงกว้างขึ้นๆ ให้ทั่วถึงทั้งองค์กรต่อไป

ผู้เขียนเชื่อว่า การเริ่มต้นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากจุดเล็กๆแต่เข้มแข็งและได้ผลจริง จะสร้างพลังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรที่ยิ่งใหญ่และทรงพลัง !!
————————————————————————————————————————————-
ผู้เขียน : สุประภาดา โชติมณี
Knowledge Management Consultant
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
suprapada@ftpi.or.th

กฎของ KM ที่คนทำ KM ต้องรู้ !!!

จากประสบการณ์การทำ KM (Knowledge Management) มายาวนาน ผู้เขียนพบปัญหาคลาสสิคของการทำ KM ที่คิดว่าคนทำ KM ทุกวงการต้องประสบพบเจอเหมือนกันแน่ๆ คือ ความร่วมมือของ “คน” ทั้งคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่เราต้องการสกัดความรู้จากเขาเหล่านั้น ตลอดจนคนในองค์กรที่มีส่วนร่วมทำให้การดำเนิน KM ในองค์กรราบรื่น
ปัญหานี้ผู้เขียนต้องเจอทั้ง 2 ด้านเลยนะ ทั้งการไปช่วยองค์กรอื่นๆทำ KM และจากการทำ KM ในองค์กรตัวเอง ….นี่เป็นปัญหาระดับชาติของคนทำ KM เลยนะ !!! แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาอันนี้ให้ได้ล่ะ? …ผู้เขียนพยายามศึกษาค้นคว้าจากตำราต่างๆมากมายจนปวดหัวไปหมด ไม่เว้นแม้แต่การใช้เวลากับตัวเองด้วยการลองมานั่งทบทวนเอาจากประสบการณ์ของตัวเองว่า ทำไมบางกิจกรรมเราอยากเข้าไปมีส่วนร่วมมากๆ บางกิจกรรมเราอยากหลีกหนีให้ไกล (และหนีจริงๆด้วยนะ ^^)
ในที่สุดผู้เขียนไปเจอหลักการด้าน HR อันนึงน่าสนใจมาก ที่เอามาประยุกต์ใช้กับการทำ KM ได้ดีเชียวล่ะ หลักการที่ว่านั้น ผู้เขียนประยุกต์มาจากประเด็นนึงของหนังสือชื่อ บทบาท HR ในโลกของ KM ของ Christina Evans หลักการนี้ถูกเรียกว่า “กฎ 3 ประการของ KM” ดังภาพที่ 1

KM Rule1-2

เจอหลักการนี้เข้าไป ถึงบางอ้อเลย …ค้นพบสัจธรรมของการทำ KM ทันที !! ก่อนที่ผู้เขียนจะมาแชร์บทความนี้ ผู้เขียนได้ทดลองใช้หลักการนี้มาประมาณ 1 ปีพอดี ซึ่งก็พอสรุปได้ว่า หลักการนี้ใช้ได้ผลจริง!!!

ถ้าลองดู กฎ 3 ประการ ของ KM ดังภาพ จะเห็นว่า เป็นอะไรที่ง่ายมากๆ แต่บอกได้เลยว่าทำจริงไม่ง่ายนักหรอกนะคะ แต่ก็นั่นแหละ มันก็ไม่ได้ยากเย็นซะจนทำไม่ได้ด้วยเช่นกัน
         

          กฎ 3 ประการ ของ KM ประกอบด้วย
1. สมัครใจ – การทำ KM ต้องเกิดจากคนที่สมัครใจทำ สมัครใจถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สมัครใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วม อย่าบังคับ เพราะหากเกิดจากการบังคับมันจะเกิดได้แค่ที่มีการบังคับ
2. สื่อไม่หมดใจ – เราพึงระลึกไว้ด้วยว่าโดยธรรมชาติของคนเรานั้น จะรู้มากกว่าที่เราพูดออกมา และ จะพูดได้มากกว่าการเขียนบันทึกเป็นตำรา
3. ต้องมี Passion – เพราะ KM เป็นเรื่องของคน การจะทำให้ KM เกิดในองค์กรได้อย่างยั่งยืน ต้องทำให้คนเห็นประโยชน์และอยากทำ ถ้าทำให้คนเกิด Passion ได้ อะไรๆก็ง่ายขึ้นเยอะ

จากประสบการณ์ง่ายๆเรื่องนี้ หวังว่าคน KM คงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อปลุก KM ให้มีชีวิต และสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์กับองค์กรได้ด้วยหลักการ KM กันอย่างสนุกสนานนะคะ เรื่องแบบนี้ไม่ลองไม่รู้ค่ะ เพราะ KM ของแต่ละองค์กร จะมีบุคลิกแตกต่างกันไป ขึ้นกับ Culture ของคนในองค์กรนั้นๆ ด้วยนะคะ

————————————————————————————————————————————-
ผู้เขียน : สุประภาดา โชติมณี
Knowledge Management Consultant
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
suprapada@ftpi.or.th

BugDay 2011 จุดประกายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อีกแล้ว !!!

          ไม่ผิดหวังเลยกับกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดีๆ ที่ชื่อ Bugday” รอบนี้เป็น Bugday 2011” จัดวันที่ 26-27 มีนาคม 2554 ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยมีคุณหนุ่ม ( Prathan D.) หรือชื่อใน twitter คือ @izyracuze เป็นพ่องานหลักเจ้าเดิมค่ะ



          งานครั้งนี้ @izyracuze ก็ยังสามารถใช้ Power of Passion ของตนเองขับเคลื่อนให้งานเกิดได้อย่างสมบูรณ์แบบทีเดียวเชียวล่ะ นอกจากเป็นงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติโดยตรง (คนวงการไอที) ที่จัดด้วยความอยาก ( Passion) ส่วนตัว แล้วเชิญชวนให้คนที่สนใจมาร่วมงานทั้งคนที่อยาก Share และคนที่อยากฟัง โดยคนที่เข้าร่วมไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ (แต่คนจัดอาจจะเสียเงินนะ เพราะได้ข่าวว่าต้องไปซื้อกาแฟ โอวัลติน มาเป็นของเบรกให้ผู้เข้าร่วมงานด้วยนะ….นับถือจริงๆ จัดงานโดยไม่ได้เงิน แถมเสียเงินอีกต่างหาก)


          จริงๆแล้วผู้เขียนไม่ได้อยู่ในวงการไอทีเลย แต่สนใจกิจกรรม Knowledge Sharing ต่างๆที่คนวงการไอทีจัดขึ้นมา  และอยากเข้าใจคนไอทีมากขึ้น เพื่อสามารถนำไอทีมาใช้สนับสนุนงานด้านระบบบริหารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ที่ผ่านมารู้สึกเสมอว่าคนไอทีพูดกับคนฝ่ายอื่นๆในองค์กรไม่รู้เรื่อง (คนไอทีชอบพูดภาษามนุษย์ต่างดาวอยู่เรื่อย…ความเห็นส่วนตัวนะคะ 🙂 ) แต่พอได้ร่วมกิจกรรม Knowledge Sharing หลายๆงาน รู้สึกว่าคนไอทีก็พูดจาภาษามนุษย์เป็นนี่นา แถมมีแนวคิดดีๆด้วย  ตอนนี้เวลาไปบรรยายหรือปรึกษาแนะนำที่ไหนจะยกตัวอย่างกิจกรรม Knowledge Sharing ของคนไอทีที่เป็นธรรมชาติมากๆ และมี Knowledge ดีๆ จากกิจกรรมเหล่านั้นให้คนวงการอื่นฟังเสมอ (พวกท่านเป็นต้นแบบที่ดีของการทำ Knowledge Sharing แล้วนะคะ…)


          ที่กล่าวว่า BugDay 2011 จุดประกายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อีกแล้ว !!! นี่ไม่ได้เป็นการกล่าวเกินจริงเลยนะคะ  เพราะการเขียนบทความเพื่อเผยแพร่ความรู้ (ฟรี) ผ่าน Blog นี่ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการเข้าร่วมงาน Bugday 2009  ที่จัดเมื่อ 19 ธันวาคม 2552   หลังกลับจากงาน BugDay 2011  จึงตั้งใจไว้ว่าจะต้องเขียนบทความเผยแพร่ความรู้ผ่าน Blog ของตนเองเช่นเดิม และตั้งใจว่าจะต้องมีวินัยมากขึ้น จัดเวลาให้เขียนได้ทุกเดือนตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก (ไม่ยอมให้ช้างมาฉุด  ให้หยุดเขียนไปหลายเดือนเหมือนที่ผ่านมา)…คอยติดตามนะคะ 🙂

Give and Take ด้วยหัวใจ

          ห่างหายจากการเขียน Blog ไปนาน เพราะมัวแต่วุ่นวายกับงานที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน และหลากหลายซะจนเตรียมตัวแทบไม่ไหว  แต่ก็เป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ผู้เขียนได้มีความรู้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ทั้งการเรียนรู้ด้านเนื้อหาวิชา (Learning) และการลงมือปฏิบัติ (Doing)

          เมื่อลองทบทวนถึงงานที่ได้ทำผ่านมาแต่ละงาน ก็นึกแปลกใจอยู่เหมือนกันว่าทำไมบางงานเราถึงสนุกและมีความสุขกับมัน บางงานรู้สึกอึดอัดพิกล จึงลองทบทวนมันด้วยหลักการ AAR (After Action Review)  โดยพิจารณาจากผลลัพธที่ใกล้เคียงกัน ถ้าเราได้ทำงานที่ใจเราอยากทำด้วยวิธีการที่เรากำหนดเอง เราจะสนุกกับมัน และทำให้ผู้ร่วมงานไปกับเราสนุกตามไปด้วย  แต่ในทางกลับกัน  ถ้างานนั้นเราถูกจำกัดสิทธิ์ โดนตีกรอบให้เดินด้วยหนทางที่เราไม่ถนัด เราจะไม่สามารถทำให้งานนั้นสนุกและส่งผ่านความสุขไปยังผู้มาร่วมงานได้อย่างที่พอใจเลย

          การทำงานทุกอย่างถ้าเราทำด้วยความสุข ความสนุก ทำด้วยหัวใจ ผลงานย่อมออกมาดีแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นงานพวกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ต้องใช้ใจเข้ามาเกี่ยวข้องมาก เพราะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะเกิดได้ดีต้องมาจากคนที่มีใจอยาก Share  คนให้ก็ให้ด้วยใจที่อยากให้ และคนรับก็รับด้วยใจที่อยากรับ หรือพูดง่ายๆว่า Give and Take ด้วยหัวใจ 

          ขอ Share ประสบการณ์จากเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกสนุกและมีความสุขกับมันมาก การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนั้น คนที่มา Share ความรู้มาด้วยหัวใจที่อยาก Share ไม่ได้ถูกบังคับให้มา  ต้องการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของตัวเอง เพื่อให้คนอื่นได้รู้และนำไปปฏิบัติได้จริง ผู้ที่มา Share ความรู้มีใจฮึกเหิมที่จะเล่าและแบ่งปันประสบการณ์ออกมาอย่างสนุกสนาน ทำให้ผู้รับฟังเห็นภาพและเข้าใจ เป็นความรู้ที่ไม่อาจหาอ่านจากหนังสือหรือสื่อใดๆได้

          ส่วนผู้รับฟังความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ก็เช่นกัน มารับฟังด้วยหัวใจ มาเพราะความอยากรู้ อยากฟัง เพื่อนำไปประยุกต์ใช้จริงๆ สนใจในสิ่งที่ Share ถามด้วยความอยากรู้ที่จะนำไปปฏิบัติ ไม่ใช่ถามเพื่อลองของ  สนใจและใส่ใจที่จะนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อ ไม่ใช่เพียงมาฟังเพื่อต้องการแค่รู้จักมันเท่านั้น

 

          การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีหัวใจสำคัญครบทั้ง 2 ส่วน ทั้งผู้ให้และผู้รับเช่นนี้ จึงมีแต่สิ่งดีๆเกิดขึ้น ได้ทั้งความรู้และประสบการณ์ที่ดีๆ และได้ความสนุกและสุขใจด้วย   มันจึงเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เยี่ยมมากครั้งหนึ่ง ทำให้ผู้เขียนได้เข้าใจคำว่า Give and Take ด้วยหัวใจ อย่างแท้จริง

          Give and Take ด้วยหัวใจ ฟังดูง่ายๆ แต่มีเสน่ห์ในตัวเอง แถมยังช่วยเสริมเติมแต่งการทำงานในทุกวันให้มีความสุขและสนุกได้ทุกวันจริงๆนะ…ลองทำดู 🙂

จุดประกายความคิดสร้างสรรค์และ IDEA ใหม่ๆ ที่งาน Ignite Bangkok 2010

 Ignite Bangkok 2010

        “Ignite เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้คนจากสารพัดวงการมานำเสนอความคิดที่สร้างสรรค์ จุดประกายไอเดียใหม่ๆ หรือเล่าเรื่องราวที่จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้ฟัง ผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบต่างๆ ที่แต่ละคนถนัด ในบรรยากาศแบบ เป็นกันเอง ซึ่งงานนี้ก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Pecha Kucha Nights นั่นเอง ทั้งนี้ Igniters (วิทยากร) แต่ละท่านจะมีเวลาพูดคนละ 5 นาที ผ่านสไลด์ 20 แผ่น โดยแต่ละแผ่นจะเปลี่ยนภายในเวลา 15 วินาที งาน Ignite นี้จัดครั้งแรก เมื่อปี 2006 ที่ Seattle จากนั้นงานนี้ก็กลายเป็นงานระดับโลกที่หลายๆ ประเทศนิยมจัดกัน ไม่ว่าจะเป็น Finland, France หรือ New York และอื่นๆ อีกมากมาย” ….ข้อมูลจาก http://ignite.kapook.com/

        ถ้าในวงการ KM (Knowledge Management)  วิธีการดำเนินกิจกรรมของงาน Ignite Bangkok นี้ ถือเป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) อย่างหนึ่ง ซึ่งในทาง KM จะเรียกว่า “Stoty Telling” หรือ “เรื่องเล่าเร้าพลัง”   ซึ่งเป็นวิธีการถ่ายทอดความรู้ที่น่าสนใจวิธีหนึ่งเลยทีเดียว

        แถมการเล่าเรื่องในงาน Ignite Bangkok 2010 นี้ ยังมีกติกาให้เล่าเรื่องโดยใช้ 20 Slide ภายในเวลา 5 นาที   ทำให้ผู้เล่าเรื่องต้องทำการบ้านมาอย่างดี เล่าเรื่องอย่างไรให้ “น่าสนใจ ได้สาระ ตรงใจผู้เล่า และถูกใจผู้ฟัง”

        งานนี้จึงน่าสนใจ และไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง !!!!

การใช้เครื่องมือช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร

ถาม :  “มีวิธีทำอย่างไรให้คนในองค์กร มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยไม่ต้องบังคับบ้างมั๊ย?

ตอบ :  “ก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่คนสนใจสิ ! ” 

            จากบทสนทนาสั้นๆข้างต้น  ทั้งคำถามและคำตอบ อาจจะดูว่าเป็นอะไรที่พื้นๆไม่ได้ซับซ้อนและยุ่งยากอะไร แต่เชื่อหรือไม่ว่าเป็นคำถามง่ายๆที่ตอบยากมาก และแม้คำตอบในบทสนทนานี้ จะเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอน แต่รู้หรือไม่ว่าตอนนำไปทำจริงๆนั้นยากยิ่งนัก

           แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่คนสนใจสิ ! ….ทำอย่างไรดีล่ะ???  เรียนมาตั้งมากมายแล้วว่าองค์ประกอบในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือ คน (People)  สถานที่และบรรยากาศ (Place) และสิ่งอำนวยความสะดวก (Infrastructure)….เรื่องสถานที่และบรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวก นี่พอจัดการได้ไม่ยาก แต่เรื่องคนนี่สิจะทำอย่างไรดี ให้สมัครใจมา และมาแล้วก็อยากจะ Share ความรู้และประสบการณ์ต่างๆด้วย ไม่ใช่มาแต่ตัวแต่ใจไม่เอากับเราด้วย เป็นเสมือนหุ่นยนต์ที่ถูกบังคับมา

          ถึงแม้จะยากเย็นแค่ไหน ถ้าเราตั้งใจทำซะอย่าง ก็สำเร็จลงได้แม้จะเหนื่อยหน่อยก็ตาม  ลองประยุกต์การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครื่องมือการปรับปรุงหรือระบบต่างๆที่องค์กรทำอยู่ก็น่าจะได้ผลดีนะคะ ในเมื่อให้ทำแบบสมัครใจไม่ work ก็น่าจะลองใช้ตัวช่วยอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย แบบ Win-Win ทั้งคนและองค์กร

ตัวอย่าง-การประยุกต์ใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับระบบ QCC (Quality Control Circle) ขององค์กร

 

           ระบบ QCC จะมีกิจกรรมหนึ่งที่ให้นำเสนอผลงานการปรับปรุง ซึ่งเป็นเวทีอย่างดีที่ทำให้คนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน โดยสถานการณ์พาไป  คนจะไม่รู้สึกถูกบังคับเพราะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมนี้อยู่แล้ว  องค์กรก็ได้ประโยชน์ที่สามารถ Capture ความรู้จากคน  และคนก็รู้สึกสนุกเพราะนอกจากได้รับความรู้ใหม่ๆจากเพื่อนๆแล้ว ตัวเองก็ได้ Show ความสามารถของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ได้ด้วย

          นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าหลายๆองค์กรที่มีการใช้เครื่องมือการปรับปรุงหรือระบบต่างๆเพื่อพัฒนายกระดับศักยภาพองค์กรสามารถนำตัวช่วยเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร ด้วยการบูรณาการ (Integration) ให้เสริมซึ่งกันและกัน  เชื่อแน่ว่าหลายองค์กรในเมืองไทยคงมีระบบบริหารธุรกิจที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้ชาติไหนแน่นอน 🙂

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) คืออะไร ?

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) คือ การที่กลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน  มารวมตัวกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยความสมัครใจ เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจหรือพัฒนาแนวปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ

 องค์ประกอบหลักที่สำคัญๆ ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) มีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ประกอบ ได้แก่

  1. คน (People) – ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นแหล่งศูนย์รวมของความรู้ที่สมควรนำออกมาแบ่งปันเป็นอย่างยิ่ง โดยก็ควรจะเป็นคนที่มีความรู้จากการปฏิบัติจริง และอยากจะมาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้นั้น ด้วยความเต็มใจ
  2. สถานที่ และบรรยากาศ  (Place) – เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีชีวิตชีวาและน่าสนใจ เพราะสถานที่และบรรยากาศที่ดี (สบายๆผ่อนคลาย) มีความเหมาะสมกับแต่ละกลุ่มคน จะทำให้คนเหล่านั้นมาเจอกันพูดคุย ปรึกษา วิเคราะห์ปัญหา  แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างสบายใจ
  3.  สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ (Infrastructure) – เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ช่วยให้การแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดได้ง่ายและสะดวกขึ้น เช่น กระดานสำหรับเขียน คอมพิวเตอร์สำหรับการสรุปและจัดเก็บความรู้รวมถึงการแบ่งปัน (Share) หรือการส่งต่อข้อมูล

 

 

 

และเมื่อมีองค์ประกอบทั้ง 3 ประการพร้อมแล้ว การที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้นประสบความสำเร็จ และใช้ประโยชน์ได้จริง ก็ควรคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญๆของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล (Effective Knowledge Sharing) ดังนี้

ปัจจัยหลักของการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 6 ประการ ได้แก่

1.      กำหนดเป้าหมายการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้ชัดเจนและสัมพันธ์กับเป้าหมายทางธุรกิจ

2.      สร้างผู้นำที่เป็นแบบอย่าง

3.      สร้างเครือข่ายของผู้มีความรู้จากการปฏิบัติ (Human Networks)    

4.      กำหนดวิธีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กร

5.      แบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นำไปใช้ในงานประจำวันได้ 

6.      สร้างแรงจูงใจที่สนับสนุนการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

 

กล่าวโดยสรุปได้ว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ที่มีประสิทธิผลนั้น จะต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบหลัก  คือ คน, สถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก  รวมทั้งดำเนินกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยพิจารณา 6 ปัจจัยหลัก ข้างต้น ด้วยการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง  🙂

BugDay 2009 อีกหนึ่งเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แท้จริง

เมื่อวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน BugDay 2009 ที่คณะสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม 

 

ต้องขอบอกว่างานนี้เป็นงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แท้จริง เพราะเป็นงานที่ถูกจัดขึ้นด้วยใจ
ด้วยความต้องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของชาว IT ในเรื่องของ Software Testing 

โดยเป็นความอยากจัดงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคุณ Prathan D. (Twitter: @zyracuze) 
 

จากความต้องการส่วนตัว (Passion) จนกระทั่งทำให้เกิดเป็นงานใหญ่งานหนึ่งขึ้นมาได้ ต้องขอขอบคุณและขอคารวะด้วยใจเป็นอย่างยิ่ง

ที่กล่าวว่างานนี้เป็นงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แท้จริง เพราะในวงการของการจัดการความรู้ KM (Knowledge Management ) 

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำ KM ก็คือ…

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ที่เกิดจากความอยาก (Passion) ไม่ใช่เกิดจากการบังคับ

ดังนิยามของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่นิยมใช้ในการทำ KM ที่เรียกว่า…

 CoP (Community of Practice) หรือชุมชนนักปฏิบัติ

ดังนี้…

กลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งร่วมกัน

มารวมตัวกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ด้วยความสมัครใจ

เพื่อร่วมสร้างความเข้าใจหรือพัฒนาแนวปฏิบัติในเรื่องนั้น

ซึ่งสามารถสรุป “หัวใจสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” ได้ดังภาพ

 

 

…และนี่คืออีกหนึ่งเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่แท้จริง ที่เป็นต้นแบบสู่การปฏิบัติเพื่อการ “พัฒนาคน” ให้นำไปสู่การ “พัฒนาองค์กร” ที่แท้จริง