Archive | March 2015

ไม่รัก ไม่บอก ….หนึ่งในหัวใจสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ !!

1425644703

เมื่อพูดถึง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) คนในวงการ KM หลายๆคน คงต้องนึกถึง Ikujiro Nonaka เป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นกูรูด้าน KM คนหนึ่ง ที่ได้นำเอาหลักการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารองค์กร ด้วยเทคนิคการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้แบบ Tacit Knowledge to Tacit Knowledge เพื่อพัฒนาความรู้ ทักษะของคนในองค์กรให้ขยายวงกว้างขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายคือ พัฒนาคนให้เก่งขึ้น เพื่อสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน

แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) จากผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มคนด้วย ซึ่ง Ikujiro Nonaka ได้ให้หลักการที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ไว้ดังนี้คือ
1. ต้องมีความเอาใจใส่กัน (Care)
2. ต้องมีความรัก ความเอื้ออาทรต่อกัน (Love)
3. ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Trust)
4. ต้องรู้สึกปลอดภัย (Safe)

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) จะเกิดได้ดีมาก หากกลุ่มคนที่มาแบ่งปันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “มีความรักและเอื้ออาทรต่อกัน (Love)” ….เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า …“ไม่รัก ไม่บอก”….. ถ้ามีข้อนี้แล้ว ข้ออื่นๆ ก็ไม่น่าหนักใจมากนัก หากไม่เชื่อลองเปรียบเทียบกับตัวท่านเองก็ได้ ว่าท่านมักจะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ที่ท่านสนใจกับกลุ่มเพื่อนสนิทหรือกลุ่มคนที่ท่านรักและไว้ใจก่อน ถ้าบังเอิญในกลุ่มนั้นมีคนที่ท่านไม่ชอบหรือไม่ถูกชะตาอยู่ด้วย ท่านก็คงไม่อยากบอกอยากเล่าข้อมูลดีๆ ให้ฟัง
รู้อย่างนี้แล้ว หากท่านต้องจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) ในองค์กรของท่าน ท่านควรเลือกทำจากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีความรักความเอื้ออาทรต่อกัน ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน มาทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร ให้ได้ผลงานที่เป็นประโยชน์กับองค์กรจริงๆ แล้วค่อยๆขยายผลออกไปในวงกว้างขึ้นๆ ให้ทั่วถึงทั้งองค์กรต่อไป

ผู้เขียนเชื่อว่า การเริ่มต้นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากจุดเล็กๆแต่เข้มแข็งและได้ผลจริง จะสร้างพลังการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรที่ยิ่งใหญ่และทรงพลัง !!
————————————————————————————————————————————-
ผู้เขียน : สุประภาดา โชติมณี
Knowledge Management Consultant
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
suprapada@ftpi.or.th

กฎของ KM ที่คนทำ KM ต้องรู้ !!!

จากประสบการณ์การทำ KM (Knowledge Management) มายาวนาน ผู้เขียนพบปัญหาคลาสสิคของการทำ KM ที่คิดว่าคนทำ KM ทุกวงการต้องประสบพบเจอเหมือนกันแน่ๆ คือ ความร่วมมือของ “คน” ทั้งคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ที่เราต้องการสกัดความรู้จากเขาเหล่านั้น ตลอดจนคนในองค์กรที่มีส่วนร่วมทำให้การดำเนิน KM ในองค์กรราบรื่น
ปัญหานี้ผู้เขียนต้องเจอทั้ง 2 ด้านเลยนะ ทั้งการไปช่วยองค์กรอื่นๆทำ KM และจากการทำ KM ในองค์กรตัวเอง ….นี่เป็นปัญหาระดับชาติของคนทำ KM เลยนะ !!! แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาอันนี้ให้ได้ล่ะ? …ผู้เขียนพยายามศึกษาค้นคว้าจากตำราต่างๆมากมายจนปวดหัวไปหมด ไม่เว้นแม้แต่การใช้เวลากับตัวเองด้วยการลองมานั่งทบทวนเอาจากประสบการณ์ของตัวเองว่า ทำไมบางกิจกรรมเราอยากเข้าไปมีส่วนร่วมมากๆ บางกิจกรรมเราอยากหลีกหนีให้ไกล (และหนีจริงๆด้วยนะ ^^)
ในที่สุดผู้เขียนไปเจอหลักการด้าน HR อันนึงน่าสนใจมาก ที่เอามาประยุกต์ใช้กับการทำ KM ได้ดีเชียวล่ะ หลักการที่ว่านั้น ผู้เขียนประยุกต์มาจากประเด็นนึงของหนังสือชื่อ บทบาท HR ในโลกของ KM ของ Christina Evans หลักการนี้ถูกเรียกว่า “กฎ 3 ประการของ KM” ดังภาพที่ 1

KM Rule1-2

เจอหลักการนี้เข้าไป ถึงบางอ้อเลย …ค้นพบสัจธรรมของการทำ KM ทันที !! ก่อนที่ผู้เขียนจะมาแชร์บทความนี้ ผู้เขียนได้ทดลองใช้หลักการนี้มาประมาณ 1 ปีพอดี ซึ่งก็พอสรุปได้ว่า หลักการนี้ใช้ได้ผลจริง!!!

ถ้าลองดู กฎ 3 ประการ ของ KM ดังภาพ จะเห็นว่า เป็นอะไรที่ง่ายมากๆ แต่บอกได้เลยว่าทำจริงไม่ง่ายนักหรอกนะคะ แต่ก็นั่นแหละ มันก็ไม่ได้ยากเย็นซะจนทำไม่ได้ด้วยเช่นกัน
         

          กฎ 3 ประการ ของ KM ประกอบด้วย
1. สมัครใจ – การทำ KM ต้องเกิดจากคนที่สมัครใจทำ สมัครใจถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สมัครใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วม อย่าบังคับ เพราะหากเกิดจากการบังคับมันจะเกิดได้แค่ที่มีการบังคับ
2. สื่อไม่หมดใจ – เราพึงระลึกไว้ด้วยว่าโดยธรรมชาติของคนเรานั้น จะรู้มากกว่าที่เราพูดออกมา และ จะพูดได้มากกว่าการเขียนบันทึกเป็นตำรา
3. ต้องมี Passion – เพราะ KM เป็นเรื่องของคน การจะทำให้ KM เกิดในองค์กรได้อย่างยั่งยืน ต้องทำให้คนเห็นประโยชน์และอยากทำ ถ้าทำให้คนเกิด Passion ได้ อะไรๆก็ง่ายขึ้นเยอะ

จากประสบการณ์ง่ายๆเรื่องนี้ หวังว่าคน KM คงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อปลุก KM ให้มีชีวิต และสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์กับองค์กรได้ด้วยหลักการ KM กันอย่างสนุกสนานนะคะ เรื่องแบบนี้ไม่ลองไม่รู้ค่ะ เพราะ KM ของแต่ละองค์กร จะมีบุคลิกแตกต่างกันไป ขึ้นกับ Culture ของคนในองค์กรนั้นๆ ด้วยนะคะ

————————————————————————————————————————————-
ผู้เขียน : สุประภาดา โชติมณี
Knowledge Management Consultant
สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ
suprapada@ftpi.or.th