Archives

นวัตกรรม (Innovation)…สร้างให้เกิดขึ้นในองค์กรได้ !!!

          เมื่อก่อนเมื่อได้ยินคำว่า “นวัตกรรม” หรือ “Innovation” ผู้เขียนเองรู้สึกเสมอว่ามันช่างสูงส่ง และไกลเกินเอื้อมยิ่งนัก ถ้าไม่ได้เป็นอัจฉริยะบุคคล คงทำให้เกิดขึ้นได้ยากแน่ๆ …แต่เมื่อได้มีโอกาสคลุกคลีกับระบบการจัดการด้านต่างๆ รวมทั้งเครื่องมือที่ใช้ในการปรับปรุงองค์กรที่หลากหลาย ได้เห็นผลงานของแต่ละองค์กรที่พยายามสร้างสิ่งใหม่ๆ เพื่อการแก้ปัญหาหรือเพื่อทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม รวมทั้งได้มีส่วนในการพัฒนาองค์กรตนเองและองค์กรอื่นๆในเรื่องระบบการจัดการความรู้ จึงรู้สึกว่าจริงๆแล้วตัวเราก็เริ่มเข้าใกล้คำว่า “นวัตกรรม” หรือ “Innovation” มากยิ่งขึ้น และเมื่อได้อ่านวิธีการคิดแบบอัจฉริยะของโทมัส อัลวา เอดิสัน (จากหนังสือ “อัจฉริยะพลิกโลก” ซึ่งแปลจาก “Edison on Innovation” ) ยิ่งทำให้รู้สึกว่า นวัตกรรม (Innovation) ไม่ได้ห่างไกลจนเกินเอื้อมเลย แต่เป็นตัวเราต่างหากที่ทำตัวออกห่างจากนวัตกรรมเสียเอง

          นวัตกรรม (Innovation) ของเอดิสันน่าสนใจ และเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เอดิสันเน้นเสมอว่า…นวัตกรรมจะต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ทำให้ชีวิตคนเราง่ายขึ้นและดีกว่าเดิม…นวัตกรรมต้องสามารถผลิตขึ้นได้ ใช้งานได้ เป็นที่ต้องการของตลาด และสร้างรายได้ให้คนที่คิดนวัตกรรมนั้นด้วย

          สิ่งที่ผู้เขียนจะนำเสนอแนวคิดการพัฒนาองค์กรสู่นวัตกรรม (Innovation) ณ ที่นี้ อาจไม่ยิ่งใหญ่เท่าความคิดของเอดิสัน แต่น่าจะเป็นแนวคิดง่ายๆ ที่หลายๆองค์กรน่าจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ยาก เพราะได้รวบรวมมาจากประสบการณ์ของตัวเองทั้งจากการลงมือทำ และการศึกษาจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลวจากการพยายามทำให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร จนกระทั่งได้เป็น Model การพัฒนาองค์กรสู่นวัตกรรม ดังภาพ

 

การพัฒนาองค์กรไปสู่นวัตกรรรม (Innovation) สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในองค์กรได้จาก 3 ช่องทางที่สำคัญ ดังนี้

1) ต้องการแก้ปัญหา (Problem) – องค์กรมีปัญหาที่สร้างความเสียหายให้กับองค์กร ไม่สามารถแก้ไขหรือจัดการได้ด้วยวิธีการเดิมๆ หรือเครื่องมือเดิมๆ จนต้องคิดค้นวิธีการ/ สิ่งใหม่ๆขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหานั้นให้หมดไป เช่น การแก้ปัญหาด้วยการวิเคราะห์จากผังก้างปลา (Cause and Effect Analysis) , Why-Why Analysis เป็นต้น จนนำไปสู่การสร้างวิธีการ/สิ่งใหม่ๆเพื่อช่วยจัดการกับปัญหา

2) ต้องการปรับปรุง (Improvement) ให้ดีกว่าเดิม– องค์กรอาจไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องการปรับปรุงสิ่งต่างๆให้ดีกว่าเดิม ด้วยการปลูกฝังให้คนในองค์กรคิดว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้จะทำให้ดีขึ้นได้อีกได้อย่างไรบ้าง และส่งเสริมให้มีการคิดและทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ จนกระทั่งเกิดเป็นวิธีการ/สิ่งใหม่ที่ทำให้ชีวิตดีกว่าเดิม เช่น การนำหลักการ Kaizen มาใช้ จนนำไปสู่การพัฒนาวิธีการใหม่ๆ/ เครื่องมือใหม่ เพื่อทำให้การทำงาน/ การใช้ชีวิตง่ายขึ้น ….ญี่ปุ่นใช้วิธีนี้เยอะมาก..จนมีสินค้าใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย

3) มีความรู้ที่สำคัญจากระบบการจัดการความรู้ (Knowledge management-KM) จนเห็นช่องทางนำไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ที่จะทำให้การทำงาน/ชีวิตดีขึ้น – องค์กรที่มีระบบการจัดการความรู้ที่ดี จะมีข้อมูล (Data), สารสนเทศ (Information) และความรู้ (Knowledge) มากพอ มีระบบการวิเคราะห์ และประเมินผลที่ถูกต้อง, แม่นยำ และรวดเร็ว องค์กรจะมองเห็นช่องทางที่จะสร้างความแปลก แตกต่างและโดดเด่น ที่เป็นความต้องการของตลาด จนกระทั่งนำไปสู่การพัฒนา/สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ใช้งานได้จริง และเป็นที่ต้องการของตลาดได้ไม่ยาก

          จากแนวคิดการพัฒนาองค์กรไปสู่นวัตกรรม ด้วย 3 ช่องทางสำคัญข้างต้น น่าจะช่วยลดความกลัวของคำว่า “นวัตกรรม” หรือ “Innovation” ในใจหลายคนลงได้บ้าง….แต่แนวคิดก็คือแนวคิด มันจะเป็นจริงไม่ได้เลยถ้าขาดการลงมือทำ ดังนั้นจงมาช่วยกันสร้าง       นวัตกรรม (Innovation) ในแบบขององค์กรท่าน ที่ไม่เหมือนใครกันเถอะค่ะ 🙂

การประยุกต์ใช้หลักการของ BCM กับ KM ในองค์กร

           จากที่ผู้เขียนมีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับหลักการ BCM (Business Continuity Management)  ได้เห็นวงจรหนึ่งใน BCM ที่น่าสนใจมาก นั่นคือ “วงจรของการบริหารธุรกิจให้เกิดความต่อเนื่อง” (The business continuity management lifecycle)  

           จากที่ได้ลองทำความเข้าใจกับวงจรดังกล่าว รู้สึกได้ทันทีว่าวงจรนี้มีอะไรที่น่าสนใจจริงๆ  และช่วยตอบโจทย์อะไรบางอย่างเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ KM (Knowledge Management) ในองค์กรได้  และน่าที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับ KM ได้เป็นอย่างดี  

           จึงได้ลองปรับปรุงเป็น Model ใหม่ขึ้นมา เพื่อนำเสนอเป็น “วงจรการจัดการความรู้ (KM) ให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน” 

           แล้วลองนำไปทดลองใช้กับองค์กรแห่งหนึ่งที่กำลังพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน  ผลปรากฏว่าใช้ได้ผลดีทีเดียว จึงขอนำมาแบ่งปัน ( Sharing) เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจนำไปต่อยอด หรือประยุกต์ใช้ KM ให้มีประสิทธิผล

           เพื่อให้ เกิด KM  ที่ใช้ได้จริง + มีประโยชน์กับองค์กร(ไม่สร้างความยุ่งยาก/ยุ่งเหยิงให้กับคนในองค์กร) + เกิด KM ที่เป็นธรรมชาติ >สม่ำเสมอ >ต่อเนื่อง  ด้วยการ… 

 

           คิดอย่างเป็นระบบ แล้วลงมือปฏิบัติให้เห็นผลจริง (สนุกแบบได้ผลงาน) และทำให้ KM ฝังเข้าไปในการทำงานปกติของทุกคนให้ได้  แล้ว KM จะเกิดและคงอยู่อย่างยั่งยืนในองค์กรของท่าน 🙂